เปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดี ไม่ยากอย่างที่คิด
เปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดี ไม่ยากอย่างที่คิด

ครั้งนี้ HomeGuru ขอพูดถึงเรื่อง เปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดี ซึ่งหลอดไฟให้แสงสว่างเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เรา ถูกคิดค้นขึ้นมานานกว่า 200 ปี เทคโนโลยีของหลอดไฟนั้นเริ่มจากหลอดไส้ หรือหลอดอินแคนเดสเซนต์ และหลอดฮาโลเจนที่มีหลักการทำงานเดียวกัน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ใช้ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน จนมาถึงยุคของหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ประหยัดพลังงาน ให้แสงสว่างมากขึ้น และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า ซึ่งเราอยู่กับสองเทคโนโลยีหลอดไฟที่ให้แสงสว่างนี้มาอย่างยาวนานนับร้อยปี แต่เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีไฟแอลอีดีพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีความสมบูรณ์แบบสำหรับการนำมาใช้งานจริงในชีวิตประจำวันหลอดไฟแอลอีดีในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูง กินไฟต่ำ มีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่ก่อให้เกิดความร้อนสูง ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศไม่ต้องทำงานหนักอีกด้วย

 

หลอดแอลอีดีในปัจจุบันมีการออกแบบที่หลากหลายเพื่อให้สามารถนำไปใช้งานกับโคมไฟเดิมที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทดแทนหลอดไฟ หรือหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ที่ใช้ขั้วเกลียว E27 หลอดฮาโลเจนแบบ MR16 และ GU10 ที่นิยมใช้กับโคมไฟสปอร์ทไลท์ หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบกลม FCL ที่ติดตั้งในโคมไฟเพดานแบบกลม และหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 แบบยาวยอดนิยมที่ใช้ตั้งแต่สำนักงานไปจนถึงที่อยู่อาศัย

 

ดังนั้น HomeGuru จึงขอแนะนำให้หันมาช่วยกันใช้หลอดไฟแอลอีดี ซึ่งมีรูปแบบหลากหลายเพื่อใช้ทดแทนหลอดไฟแบบต่างๆ กันดีกว่า อีกทั้งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และมอบความสว่างไสวที่เหมาะสมเพื่อทุกการใช้งานอีกด้วย

 

หลอดไฟแอลอีดีสำหรับขั้ว E27

หลอดไฟขั้วเกลียว E27ที่คุ้นเคยกันมาช้านานตั้งแต่ยุคสมัยหลอดแบบไส้หรืออินแคนเดสเซนต์ จนถูกทดแทนด้วยหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ (CFL) หรือที่เราเรียกกันว่าหลอดประหยัดไฟ ซึ่งโคมไฟที่ใช้ขั้ว E27 นี้ก็ยังถูกใช้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากความสะดวกในการซื้อหามาใช้งาน ดังนั้นการ เปลี่ยนหลอดไฟแอลอีดี เพื่อทดแทนหลอดไส้และหลอดประหยัดไฟขั้ว E27 จึงทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ขันหลอดเดิมออกแล้วใส่หลอดแอลอีดีขั้ว E27 เข้าไปโดยไม่ต้องดัดแปลงระบบสายไฟใดๆ เลย

การเลือกซื้อหลอดแอลอีดีสำหรับโคมที่ใช้ขั้ว E27 นั้น ต้องสังเกตว่าดวงโคมออกแบบมาเพื่อใช้งานแบบใด เป็นโคมแขวนเพดาน หรือโคมดาวน์ไลท์ เป็นต้น เพราะหลอดไส้และหลอดประหยัดไฟนั้นเปล่งแสงแบบรอบทิศทาง ขณะที่ตัวกำเนิดแสงของหลอดแอลอีดีนั้นมักให้แสงเพียงทิศทางเดียว ดังนั้นหลอดแอลอีดีจึงมีการออกแบบที่หลากหลาย ใช้แผงแอลอีดีหลายชิ้นหรือหลายขนาดเพื่อให้เปล่งแสงออกมาอย่างเหมาะสมกับโคมไฟแบบต่างๆ นั่นเอง ดังนั้นจึงควรศึกษาก่อนเลือกซื้อ หากไม่แน่ใจ ให้ถ่ายภาพโคมไฟ และนำหลอดไส้และหลอดประหยัดไฟตัวเก่าไปให้พนักงานดูด้วย เพื่อเลือกหลอดแอลอีดีที่ทดแทนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

หลอดไฟแอลอีดีสำหรับขั้ว MR16 และ GU10

หลอดประเภทนี้ใช้งานในโคมไฟสปอร์ตไลท์และดาวน์ไลท์ ตัวหลอดมีโคมสะท้อนแสงบิลท์อินในตัว หลอดประเภทนี้มักเป็นหลอดฮาโลเจนที่ให้แสงสว่างมาก กินไฟและก็มีความร้อนสูง การปรับมาใช้หลอดไฟแอลอีดีจึงเป็นทางเลือกที่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันหลอดแอลอีดีมีคุณภาพสูง ให้แสงสว่างได้ทัดเทียม แต่กินไฟต่ำ และกระจายความร้อนน้อยกว่า ตัวแผงแอลอีดีมีขนาดเล็ก ช่วยให้ออกแบบเหมือนหลอดฮาโลเจนได้ทุกประการ จึงสามารถถอดสลับเปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย

 

หลอดไฟแอลอีดีแบบกลม FCL

หลอด FCL หรือหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์แบบกลมที่ใช้อยู่ในโคมไฟเพดาน หรือที่ทั่วไปนิยมเรียกว่าโคมไฟซาลาเปานั่นเอง ชุดโคมประเภทนี้จะมีบัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ สำหรับการเปลี่ยนหลอดแอลอีดีแบบกลมที่ใช้ทดแทนหลอด FCL นั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ปลดปลั๊กออกจากตัวหลอดเดิม ถอดสตาร์ทเตอร์ออก ส่วนบัลลาสต์นั้นไม่จำเป็นต้องถอด เพราะหัวปลั๊กและสายไฟของชุดไฟประเภทนี้สามารถต่อใช้งานกับหลอดแอลอีดีแบบกลมได้ทันที ตัวหลอดชนิดนี้มีขนาดเท่าหลอด FCL แบบเดิม จึงสามารถแขวนกับขายึดหลอดเดิมได้พอดี

 

หลอดไฟแอลอีดีชนิด T8

หลอดชนิดนี้ออกแบบเพื่อเปลี่ยนทดแทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 หรือที่เรียกคุ้นปากว่าหลอดผอม ซึ่งเป็นหลอดไฟยอดนิยมที่ใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในสำนักงาน ร้านค้า และที่อยู่อาศัย แม้หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่ถือว่าประหยัดไฟอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีแอลอีดีช่วยให้ประหยัดมากขึ้นเกือบเท่าตัว แถมมีอายุใช้งานนานขึ้น จึงทำให้หลายๆ คนสนใจหาใช้งาน แต่การสลับมาใช้หลอดแอลอีดีชนิด T8 นั้น ต้องเลือกประเภทของหลอด และยี่ห้อผู้ผลิต เพราะการสลับเปลี่ยนนั้นสามารถทำได้ง่ายดายถ้าเลือกสินค้าที่เหมาะสม หรือสามารถเรียกช่างไฟมาช่วยติดตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ง่ายดายและทำได้รวดเร็ว

หลอดไฟแอลอีดี T8 ชนิดแรก ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ต้องการใช้โคมไฟหลอดฟลูออเรสเซนต์ของ “เดิม” จึงออกแบบหลอดแอลอีดีและสตาร์ทเตอร์ชนิดพิเศษที่จะขายมาพร้อมกับหลอด การติดตั้งจึงง่ายดาย เพียงเปลี่ยนสตาร์ทเตอร์ตัวเดิมออก สลับใส่สตาร์ทเตอร์ตัวใหม่ที่มาพร้อมชุดหลอดไฟ จากนั้นใส่หลอดแอลอีดีเข้าไปก็ใช้งานได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องถอดบัลลาสต์เดิมออก

ชนิดที่สอง หลอดไฟแบบเข้าขั้วสองทาง หรือ Double-ended ซึ่งมีเพียงตัวหลอดเท่านั้น ออกแบบมาเพื่อใส่สำหรับโคมไฟติดตั้ง “ใหม่” ที่มีการเดินสายไฟเข้าจากขั้วหลอดทั้งสองด้าน โดยไม่ต้องใช้บัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ สำหรับกรณีที่นำไปใช้กับโคมไฟเดิมนั้น สิ่งแรกทีต้องทำคือการถอดสายไฟที่ต่อเข้า-ออกตัวบัลลาสต์ (คุณอาจจะถอดบัลลาสต์ด้วยหากทำได้ง่าย หรือปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่มีปัญหาใดๆ) จากนั้นนำสายไฟที่เคยต่อเข้า-ออกมาต่อเชื่อมด้วยกันด้วยลูกเต๋าต่อสายไฟเพื่อความปลอดภัย ส่วนสตาร์ทเตอร์นั้นก็ถอดออกได้เลย จากนั้นใส่หลอดแอลอีดีเข้าไปก็ใช้งานได้ทันที

ชนิดที่สาม หลอดแบบไฟเข้าขั้วทางเดียว หรือ Single-ended ซึ่งมีเพียงตัวหลอดเช่นกัน หลอดชนิดนี้มีขั้วไฟ L และ N (บวก-ลบ) อยู่ฝั่งเดียว นอกจากสังเกตุบนฉลากได้แล้ว บริเวณขั้วหลอดจะระบุไว้อย่างชัดเจน สำหรับกรณีติดตั้งโคมไฟ “ใหม่” นั้น เพียงให้ช่างเดินสายมายังขั้วหลอดฝั่งเดียว โดยไม่ต้องใช้บัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ สำหรับกรณีนำมาไปใช้กับโคมไฟ “เดิม” จำเป็นต้องการถอดสายไฟที่ต่อเข้า-ออกตัวบัลลาสต์ แล้วนำมาต่อเชื่อมด้วยกันด้วยลูกเต๋าต่อสายไฟ จากนั้นต้องย้ายสายไฟขั้วบวกและลบซึ่งเดิมต่อเข้าขั้วหลอดทั้งด้านซ้ายและขวา ให้มาเข้าขั้วหลอดเพียงฝั่งเดียวซึ่งอาจไม่สะดวกในการติดตั้งเอง แต่กรณีให้ช่างไฟมาปรับแก้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องง่าย ทำได้รวดเร็ว และไม่ซับซ้อนสำหรับช่างไฟทั่วไป

การเลือกหลอดไฟแอลอีดีนั้น HomeGuru ขอแนะนำให้เลือกใช้แบรนด์ผู้ผลิตชั้นนำที่คัดสรรและจำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีหลอดแอลอีดีไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาดมากมาย ซึ่งมักกระจายแสงได้ไม่ดี ให้ความสว่างไม่ตรงตามฉลาก และอายุการใช้งานสั้น แม้ราคาถูกแต่ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ท้ายสุดนี้ การติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงระบบไฟต้องคำนึงถึงความปลอดภัย หากไม่แน่ใจผลิตภัณฑ์ใด ควรปรึกษาพนักงานขายในเรื่องการนำไปใช้งาน และหากไม่แน่ใจเรื่องการติดตั้ง ควรให้ช่างที่ชำนาญมาติดตั้งเท่านั้น

 

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://homeguru.homepro.co.th/